สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 125 แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ทรงเป็นสัญลักษณ์ของรัฐและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพสกนิกรชาวญี่ปุ่น พระองค์ทรงเป็น 1 ใน 10 กษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในขณะนี้* (30 ปี 103 วัน) โดยญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกยุคสมัยใหม่ที่ยังคงเรียกประมุขของประเทศว่า ‘จักรพรรดิ’ (Emperor)
พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อภิเษกสมรสกับสามัญชนเมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งตามโบราณราชประเพณีแล้ว ว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดินีจะต้องมาจากตระกูลผู้สูงศักดิ์เท่านั้น โดยทรงพบรักกับ นางสาวมิชิโกะ โชดะ ในการแข่งขันเทนนิสรายการหนึ่ง ก่อนที่จะทรงอภิเษกสมรสเมื่อปี 1959
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในรอบ 200 กว่าปี นับตั้งแต่สมเด็จพระจักรพรรดิโคกากุ เมื่อปี 1817 ที่ทรงสละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมารของพระองค์ในขณะนั้น โดยพระราชพิธีสละราชสมบัติจะมีขึ้นในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดยุคสมัยเฮเซที่ 31 และเริ่มต้นยุคสมัยเรวะอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019
พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์น้ำ ทรงเผยแพร่งานวิจัยชิ้นสุดท้ายเกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาที่พระองค์ทรงศึกษามานานกว่าครึ่งทศวรรษ ก่อนที่พระองค์จะทรงสละราชสมบัติ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อทรงศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ปลาต่อไปภายในพระราชวังอิมพีเรียล แม้จะทรงก้าวลงจากพระราชอำนาจและส่งต่อพระราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแล้วก็ตาม
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเคยจัดส่งพันธ์ุปลานิลทูลเกล้าถวายฯ แด่รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 1965 ครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น อันเป็นจุดเริ่มต้นการเพาะเลี้ยงพันธ์ุปลานิลครั้งแรกของประเทศไทย ก่อนที่จะกลายเป็นพันธ์ุปลาที่ได้รับความนิยมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 4 ครั้ง และเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์อีกเป็นจำนวนมาก ครั้งแรกเมื่อปี 1964 เจ้าชายอะกิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ พระชายา เสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรกเมื่อปี 1991 ภายหลังจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ และทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2006
ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2017 เพื่อเคารพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมลงนามถวายความอาลัย ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ซึ่งนับเป็นประเทศสุดท้ายที่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเสด็จฯ เยือน ก่อนที่จะสละราชสมบัติและผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าไทยและญี่ปุ่นมีการติดต่อค้าขายกันตั้งแต่สมัยอยุธยา 26 กันยายน 1887 ทั้งสองประเทศลงนามในปฏิญญาว่าด้วยพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นการสถาปนาทางการทูตอย่างเป็นทางการ นำไปสู่การตั้งสถานเอกอัครราชทูตทั้งที่โตเกียวและกรุงเทพฯ ซึ่งในปี 2019 นี้เป็นโอกาสครบรอบ 132 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น
ไม่ว่าเบญจมาศดอกเก่ากำลังจะร่วงโรย รัชสมัยถูกผลัดเปลี่ยน แต่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่นจะยังคงดำเนินต่อไปและทวีความแน่นแฟ้นขึ้น สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะก็จะยังคงเป็นที่เคารพศรัทธาของพวกเราชาวไทยในฐานะกัลยาณมิตรผู้ยิ่งใหญ่ต่อไป
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น